มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
KING MONGKUT'S UNIVERSITY OF TECHNOLOGY NORTH BANGKOK
เปลี่ยนการแสดงผล :
วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. จัดแถลงข่าว ความสำเร็จ “โครงการหลักสูตร 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน” พร้อมเปิดตัวหลักสูตรสองปริญญาใหม่  “การจัดการการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ”
News Date14 กุมภาพันธ์ 2566
ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. พิเชษฐ์ ศรียรรยงค์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ, และ ศาสตราจารย์ ดร. แกร์ฮาร์ด เฟลด์มายเยอร์ (Prof. Dr. Gerhard Feldmeier), คณบดีคณะการจัดการและระบบสารสนเทศ (Dean of Faculty of Management and Information Systems), ศาสตราจารย์ ดร. เบียร์กิต วอค-วันเนอวิซ (Prof. Dr. Birgit Vock-Wannewitz) จาก มหาวิทยาลัยเบรเมอร์ฮาเว่น (Hochschule Bremerhaven, University of Applied Sciences) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และทีมคณาจารย์ไทย-เยอรมัน จัดแถลงข่าวความสำเร็จโครงการหลักสูตรปริญญาบัณฑิต สาขาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ “3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน” ในโอกาสฉลองครบรอบ 5 ปี แห่งการดำเนินโครงการฯ และในโอกาสนี้ยังได้เปิดตัวความร่วมมือปริญญา 3+1 หลักสูตรที่สองคือ “สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ (Cruise Tourism Management)” ซึ่งจะผสานจุดแข็งของหลักสูตรการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ของวิทยาลัยนานาชาติ เข้ากับจุดแข็งของหลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวเรือสำราญของมหาวิทยาลัยเบรเมอร์ฮาเว่น ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ด้วยเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าสำคัญของเยอรมนีซึ่งมีท่าเทียบเรือสำราญที่มีความเป็นมาเก่าแก่เกือบ 200 ปี ซึ่งการขยายความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นผลพวงจากความสำเร็จของการดำเนินโครงการหลักสูตร 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน ในเฟสแรก ที่มีบัณฑิตไทยและเยอรมันสำเร็จการศึกษาแล้ว 3 รุ่น ในหลักสูตรที่เป็นการจับคู่ “หลักสูตรการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ (International Trade and Business Logistics)” ของวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. กับ “หลักสูตร Betriebswirtschaftslehre (Business Administration)” ของมหาวิทยาลัยเบรเมอร์ฮาเว่น โดยกำลังอยู่ในช่วงของการคัดเลือกนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ 5 แม้ว่าการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวไทย แต่ในระดับสากลแล้วจัดเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งยังเป็นการรวมศาสตร์และศิลป์ตลอดจนวิทยาการหลากแขนงในการบริหารและดำเนินกิจการ สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไม่เพียงเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ยังรวมไปถึงธุรกิจสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การจัดหาเสบียงและเชื้อเพลิง การให้บริการด้านท่าเรือและการส่งต่อนักท่องเที่ยว บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาภายใต้โครงการฯ นี้จึงนับว่าเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ประสบการณ์ และความวิสัยทัศน์ ปฏิบัติได้จริง ซึ่งสามารถต่อยอดให้กับเศรษฐกิจระดับชาติและระดับนานาชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการจัดการเรียนการสอนในโครงการหลักสูตร 3+1 สองปริญญา ไทย-เยอรมัน ดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษทำให้นักศึกษาทักษะการสื่อสารพร้อมต่อการทำงานในระดับสากล อีกทั้งทั้งสองสถาบันยังได้ส่งเสริมการเรียนภาษาที่ 3 คือ ภาษาไทยแก่นักศึกษาชาวเยอรมัน และภาษาเยอรมันแก่นักศึกษาไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านวัฒนธรรมและความหลากหลาย อาทิ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการทัศนศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาจากทั้งสองสถาบันมีความพร้อมเป็นพลเมืองสากลนอกเหนือจากความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลจากการเรียนและใช้ชีวิตในต่างแดน เน้นหลักการผสมผสานองค์ความรู้ และส่งเสริมให้นักศึกษาของทั้งสองประเทศได้มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สมดังปรัชญาการศึกษาของ มจพ. “วิชาการดีเด่น จากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Academic Excellence with Hands-on Experience) ซึ่งสืบทอดมาตลอด 64 ปี ด้วยรากฐาน “ไทย-เยอรมัน” โดยมีนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ ที่สนใจหลักสูตรเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทราชินี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. โทร: +66 2 555-2000 ต่อ 2811 หรือ 2812 มือถือ: +66 9 27424458 Email: admission@ic.kmutnb.ac.th
Facebook: International College KMUTNB
พัทธนันท์/ข่าว
วุฒิสิทธิ์/ภาพ